คอนเซปต์

KUNO Method สู่เด็กทั่วโลก

ที่ KOGUMAKAI เราได้ค้นคว้าและทำการทดลองเชิงปฎิบัติ เพื่อค้นหาลักษณะการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กอายุ 2 ปี ไปจนถึง เด็กอายุ 11 ปี โดยยึดตามแนวความคิดเรื่องการศึกษาต่อเนื่องของเด็กก่อนวัยเรียน (2-5 ปี) และเด็กวัยเรียน(6-12 ปี)เราได้พัฒนาเนื้อหาและวิธีการสอน โดยทำการทดลองเชิงปฎิบัติในห้องเรียนจริงที่ประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะการทดลองในห้องเรียนของเด็กก่อนวัยเรียนซึ่งเป็น “การศึกษาขั้นพื้นฐานก่อนวัยเรียน”  

ในที่นี้หมายถึง การเรียนการสอนเกี่ยวกับทักษะการคิดพื้นฐานที่จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ในห้องเรียน เมื่อเด็กเข้าศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาต่อไป   ผลจากการทดลองดังกล่าว พบว่ามีประโยชน์ต่อการเตรียมพร้อมเพื่อสอบเข้าเรียนในโรงเรียนอนุบาล และโรงเรียนประถมเป็นอย่างมาก
ในยุคปัจจุบัน ดูเหมือนว่า การเรียนการสอนในชั้นเรียนจะมีจุดมุ่งหมาย เพื่อการสอบเข้าโรงเรียนประถมทั้งสิ้น แต่ที่ KOGUMAKAI เราไม่ได้สอนเทคนิคการทำข้อสอบเพื่อใช้สอบเข้าโรงเรียน แต่เราจะปลูกฝังทักษะการคิดวิเคราะห์ ที่จะมาใช้เป็นพื้นฐานในการเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาต่อไปให้กับเด็ก
ปัจจุบัน เกิดกระแสความคิดและค่านิยมที่ผิดของผู้ปกครอง เรื่องการให้ลูกเรียนเร็ว มากขึ้นเรื่อยๆ เช่น พบว่า มีผู้ปกครองให้เด็กอายุ 4 ปีทำการบ้านของเด็กระดับประถม หรือ เด็กอายุ 3 ปีทำการบ้านของระดับเด็กอายุ 6 ปี KOGUMAKAI ไม่เห็นด้วยกับการให้เด็กเรียนเร็วในลักษณะดังกล่าว เราเล็งเห็นว่า ไม่ใช่การรีบเรียน แต่การเสริมสร้างทักษะในการคิดต่างหาก ที่จะมาเป็นพื้นฐานการเรียนรู้ในห้องเรียนของเด็กต่อไป

KUNO Method คือ?

วิธีการสอนที่เป็นเอกลักษณ์ของ KOGUMAKAI ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งที่ดึงดูดเด็กๆไปยังสิ่งต่างๆ และการตรวจสอบความเข้าใจโดยการสนทนาโต้ตอบ ซึ่งวิธีการเหล่านี้ทำให้เด็กๆสามารถค้นพบความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆได้ด้วยตนเอง โดยผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์กลั่นกรองความคิดนั้นออกมาเป็นคำพูด เราจะทำการสอนให้เหมาะกับเด็กเล็ก พร้อมกันนั้นมีการจัดเนื้อหาที่เด็กควรรู้ก่อนที่จะเข้าเรียนให้เหมาะกับลำดับพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัย และยกระดับความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของเด็กให้สูงขึ้น โดยใช้หลักสูตรดั้งเดิม และใช้อุปกรณ์สื่อการเรียนการสอนเข้ามาร่วมด้วย

ในห้องเรียนเราจะทำการฝึกฝนหัวข้อเดียวกันถึง 3 ระดับ คือ

1.การเรียนรู้ผ่านสิ่งต่างๆ รอบตัว หลักของการศึกษาของเด็กปฐมวัย (0-5ปี) คือ การปล่อยให้เด็กเรียนรู้ด้วยตนเองจากสิ่งต่างๆรอบตัว สำหรับเด็กเล็ก การเรียนรู้เริ่มต้นจากการสัมผัส เด็กจะเรียนรู้ได้ดีที่สุด ถ้าผู้ปกครองปล่อยให้เด็กได้ค้นพบสิ่งต่างๆด้วยตนเอง เด็กเล็กจะมีความตั้งใจ ในการที่จะจัดการปัญหาที่ตัวเองสนใจด้วยตัวของเขาเอง โดยใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า ซึ่งการฝึกฝนทางด้านประสาทสัมผัส สิ่งสำคัญประการแรกคือการทำงานด้วยมือ ถ้าเด็กได้มีบางสิ่งบางอย่างที่จะได้จับต้อง และบิดหมุนด้วยมือ สมองย่อมจะทำหน้าที่ตอบสนองได้
จุดมุ่งหมายในการให้การศึกษาในระยะแรกนั้น ไม่ใช่การเอาความรู้ไปบอกเด็ก แต่ควรเป็นการปลูกฝังให้เด็กได้เจริญเติบโต ไปตามความต้องการตามธรรมชาติของเขา ระบบการศึกษาแบบยัดเยียดความรู้เป็นระบบแบบเน้นปริมาณข้อมูล เพื่อที่จะให้เด็กได้รับข่าวสารและความรู้มากๆ ระบบนี้มีข้อผิดพลาดจุดใหญ่คือ ไม่สามารถกระตุ้นให้เด็กลงมือทำด้วยตัวเองได้ นอกจากนี้ยังไม่เสริมสร้างให้เด็กรู้จักคิดอย่างมีเหตุผลอีกด้วย

2.การลองผิดลองถูกโดยการปฏิบัติจริง การเรียนรู้แต่เพียงในกระดาษ ไม่สามารถกระตุ้นให้เด็กเล็กมีจินตนาการ และใช้การคิดวิเคราะห์ในการแก้ปัญหาได้ดีเท่าเรียนรู้จากของจริง ในระหว่างที่ลองผิดลองถูกโดยใช้สิ่งของกระตุ้น จะก่อให้เกิดประสบการณ์ในการเรียนรู้ถึงคุณลักษณะของสิ่งของและความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ในตอนที่ตอบคำถามในกระดาษ เด็กๆจะสามารถแก้ไขโจทย์ยากๆในกระดาษได้ โดยผ่านการคิดวิเคราะห์จากประสบการณ์ที่เคยเจอ
KOGUMAKAI พยายามใช้สิ่งที่เป็นรูปธรรม ที่สัมพันธ์กับเนื้อหาที่ใช้สอนในห้องเรียน และเปิดโอกาสให้เด็กๆได้เรียนรู้แบบลองผิดลองถูก เพื่อที่พวกเขาจะได้ค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขาและสิ่งต่างๆรอบตัว ในห้องเรียนของเราจะเริ่มต้นจากกิจกรรมที่ใช้ร่างกายทุกส่วนก่อน หลังจากนั้นจะมีการจำลองสถานการณ์และสื่อการเรียนรู้ให้เหมือนกับการใช้ชีวิตจริง ซึ่งจะทำให้เด็กมีความกระตือรือร้นสนใจ อยากที่จะเรียนรู้และแก้สถานการณ์ด้วยตัวเอง

3.ตรวจสอบความเข้าใจด้วย paper work และการสนทนาโต้ตอบกับอาจารย์ โดยทั่วไปแล้ว การศึกษาของเด็กปฐมวัยจะเริ่มจากการให้เด็กอ่านและเขียนตัวอักษร ก่อนที่จะให้พวกเขาคิดและอธิบายเกี่ยวกับปัญหาตามโจทย์ที่ได้รับ เวลาให้เด็กทำแบบฝึกหัด เรามักประเมินความสามารถของเด็กว่า “ทำได้” หรือ “ทำไม่ได้” แต่สิ่งที่มีความจำเป็นมากกว่าการประเมินความสามารถของเด็กคือ การให้คำแนะนำที่เหมาะสมแก่เด็ก ผู้ใหญ่ควรเริ่มจากการทำความเข้าใจกระบวนการคิดของเด็ก โดยสังเกตจากการถ่ายทอดความคิดทางภาษาของพวกเขาเสียก่อน นอกจากนี้แล้ว การให้เด็กฝึกซ้อมสนทนา ก็นับเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการเสริมสร้างทักษะการคิดผ่านการใช้ภาษาของเด็กด้วย

ที่ KOGUMAKAI เราจะมีการตรวจเช็คความเข้าใจในขั้นตอนสุดท้าย โดยการทดสอบด้วยการตอบคำถามในกระดาษ และการโต้ตอบกับอาจารย์ จึงมั่นใจได้ว่าเด็กๆ จะไม่มีการเข้าใจโดยบังเอิญหรือด้วยวิธีการทางเทคนิค ขั้นตอนเหล่านี้ทำเพื่อให้แน่ใจว่า เด็กได้แก้โจทย์ต่างๆ ด้วยวิธีการคิดวิเคราะห์ที่ถูกต้อง และไม่ว่าจะเป็นคำถามแบบไหนลักษณะใด ที่ KOGUMAKAI ก็จะถามว่า “ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?” และจะพยายามให้เด็กได้อธิบายถึงที่มาของคำตอบ ซึ่งในบางกรณีอาจจะมีการแสดง ออกด้วยอากัปกิริยาที่ไม่ใช่คำพูด สิ่งนี้เป็นหนึ่งในขั้นตอนที่สำคัญก่อนที่จะอธิบายออกมาเป็นคำพูด สิ่งที่สำคัญคือการทำให้เข้าใจจริงๆ และไม่ใช่การปล่อยให้เข้าใจไปเอง

เนื้อหาของการเรียนรู้ ที่ Kogumakai เราแบ่งหัวข้อออกเป็น 6 เรื่องใหญ่ๆ ด้วยกัน และแต่ละหัวข้อแยกออกเป็นระดับให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย คือตั้งแต่ 3-6 ปี (อนุบาล 1 – 3)

1.ปริมาณ เรียนรู้หลักของการคิดจำนวนโดยใช้ปริมาณเป็นพื้นฐาน เรียนรู้วิธีการเปรียบเทียบของแต่ละอย่าง ทั้งในแง่ ขนาด, จำนวน, ความยาว, น้ำหนัก และมีการคิดอย่างเป็นระบบในการเรียงลำดับในด้านปริมาณ

2.การบอกตำแหน่ง ฝึกฝนสายตาที่มองสิ่งของต่างๆ แม้จะมีการเปลี่ยนตำแหน่งในการมองก็ตาม ทำความเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ของตำแหน่งของสิ่งของที่เป็นพื้นฐาน เช่น บนล่าง หน้าหลัง ซ้ายขวา เป็นต้น การเรียนรู้ฝึกฝนวิธีการมองจากทิศทาง ตำแหน่งที่ต่างจากตนเอง ด้วยการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์บนแผนที่ การสังเกตุจากรอบทิศทาง จะทำให้สามารถจินตนาการมุมมองของผู้อื่นได้

3.จำนวน เรียนรู้พื้นฐานการคิดจำนวน บวก ลบ คูณ หาร เริ่มจากเรื่อง การนับสิ่งของได้อย่างถูกต้อง การค้นหาจำนวนที่เท่ากัน การรวมจำนวน ผลต่างของจำนวนจากการเปรียบเทียบ และจำนวนที่แยกออกโดยการแบ่งให้เท่ากัน ซึ่งเด็กสามารถใช้ทักษะนี้ได้อย่างง่ายในชีวิตประจำวัน

4.รูปทรง ยกระดับการจดจำรูปทรง ทั้งแบบแบนราบและ3มิติ เริ่มจากการทำความเข้าใจลักษณะพิเศษ ของรูปทรงต่างๆที่เป็นพื้นฐานของภาพแบบแบนราบและ3มิติ สร้างจินตนาการโดยผ่านการเปรียบเทียบการมองรูปร่าง ฝึกฝนโดยการวาดรูปทรงได้อย่างถูกต้อง การนำรูปทรงต่างๆมาประกอบกัน หรือการแยกรูปทรงออก เพื่อให้ได้อีกรูปทรงหนึ่ง

5.ภาษา ฝึกฝนความสามารถในการฟังและการพูด ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการอ่านและการเขียน นอกจากการเรียนรู้จดจำการพูดคุยของคนและการใช้สมุดภาพแล้ว ก็ยังมีละครหุ่นกระดาษซึ่งแต่งเรื่องราวที่มาจากประสบการณ์ ในการใช้ชีวิตประจำวันด้วย นอกจากนี้ยังมีการเรียนรู้พื้นฐานการเรียนภาษาไทยผ่านการเล่นคำศัพท์ เช่น เสียงขึ้นต้น เสียงลงท้าย การเล่นต่อคำ และคำตรงข้าม เป็นต้น

6.การดำเนินชีวิต ฝึกฝนความสามารถในการรับรู้และเข้าใจในคุณลักษณะของสิ่งของที่อยู่ในชีวิตประจำวัน สามารถโยงความสัมพันธ์ของสิ่งของกับสิ่งของได้เป็นอย่างดี และสามารถทำความเข้าใจในสิ่งต่างๆในหลากหลายแง่มุมมากขึ้น ซึ่งเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ทั้งหมด

Kogumakai

- สาขาศูนย์การค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว ชั้น 9 (ขึ้นลิฟท์ประตู C)

- สาขา The Walk ราชพฤกษ์ ชั้น 2 ด้านหลัง B2S

ติดต่อสอบถาม 099-5361454

e-mail:[email protected]